การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
Last update 13 / 03 / 22by: Teacher Guru1.1K viewed

ทุกวันนี้เราจะนิยมเห็นการเขียนภาษาไทยโดยเป็นคำที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ หลายครั้ง หลายคำก็ดูขัดตา บางทีอาจจะมองดูว่าผิดหลักหรือเปล่า เพื่อความแน่ใจ วันนี้เรามาเรียนหลักการทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยกันเลยดีกว่า เพื่อจะได้เข้าใจแนวทางและใช้งานได้ถูกต้องตามหลักราชบัณฑิตยสถาน

 

English transliteration to Thai - การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

 

การทับศัพท์ตัวอักษร

     สามารถย้อนกลับไปดูที่ ตัวอักษรภาษาอังกฤษเทียบกับตัวอักษรภาษาไทย

 

การเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ตามหลักของราชบัณฑิตยสถาน

การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาอังกฤษเดิม พอให้เห็นถึงการแสดงที่มาของรูปศัพท์ว่ามาจากภาษาอังกฤษ แล้วให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในรูปตัวอักษรภาษาไทย

คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษบางคำที่ใช้กันมานานจนถือว่าเป็นภาษาไทย และมีปรากฏใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอยู่แล้ว กำหนดให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น ช็อกโกแลต ช็อกโกเลต เชิ้ต ก๊าซ แก๊ส ไม่จำเป็นต้องทับศัพท์ใหม่

คำวิสามานยนามที่ระบุถึงบุคคลหรือสถานที่ที่ใช้กันมานานแล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น Loas = ลาว, Victoria = วิกตอเรีย, Louis = หลุยส์ หรือ Cologne = โคโลญ เป็นต้น

ศัพท์วิชาการซึ่งใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมขึ้นแล้วแต่ความจำเป็น


หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ


1. สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ โดยเทียบเสียงสระภาษาไทยตามตารางเทียบเสียงสระภาษาอังกฤษ

2. พยัญชนะ ให้ถอดเป็นพยัญชนะภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ในตารางเทียบพยัญชนะภาษาอังกฤษ

3. การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต

3.1 พยัญชนะตัวที่ไม่ออกเสียงในภาษาไทย ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้ เช่น horn = ฮอร์น
3.2 คำหรือพยางค์ที่ตัวสะกดมีพยัญชนะตามมาหลายตัว ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต ไว้บนพยัญชนะที่ไม่ออกเสียงตัวสุดท้าย แต่เพียงแห่งเดียว เช่น Barents = แบเร็นตส์
3.3 คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะไม่ออกเสียงอยู่หน้าตัวสะกด ที่ยังมีพยัญชนะตามหลังมาอีก ให้ตัดพยัญชนะที่อยู่หน้าตัวสะกดออก และใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้บนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น world = เวิลด์ (ไม่ใช่ เวิร์ล)

4. การใช้ไม้ไต่คู้ ควรใช้ในกรณีต่อไปนี้

4.1 เพื่อให้เห็นแตกต่างจากคำไทย เช่น log = ล็อก (ให้ต่างจากคำว่า ลอก ในภาษาไทย)
4.2 เพื่อช่วยให้ผู้อ่านแยกพยางค์ได้ถูกต้อง เช่น Okhotsk = โอค็อตสก์


5. การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ การเขียนคำทับศัพท์ ไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทย จนทำให้เกิดความสับสน อาจใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ได้ เช่น coma = โคม่า (ไม่ใช่ โคมา (วัวมา))

6. พยัญชนะซ้อน (double letter) คำที่มีพยัญชนะซ้อนเป็นตัวสะกด ถ้าเป็นศัพท์ทั่วไป ให้ตัดออกตัวหนึ่ง เช่น football = ฟุตบอล
แต่ถ้าเป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้เก็บไว้ทั้ง 2 ตัว โดยใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้ที่ตัวท้าย เช่น cell = เซลล์ (ไม่ใช่ เซล)
ถ้าพยัญชนะซ้อนอยู่กลางศัพท์ให้ถือว่า พยัญชนะซ้อนตัวแรกเป็นตัวสะกดของพยางค์หน้า และพยัญชนะซ้อนตัวหลัง เป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น broccoli = บรอกโคลี

7. คำที่ตัวสะกดของพยางค์หน้าออกเสียงเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ตัวต่อไปด้วย ให้ถือหลักเกณฑ์ดังนี้

7.1 ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอะ ซึ่งเมื่อทับศัพท์ต้องใช้รูปไม้หันอากาศ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์หน้า เข้าอีกตัวหนึ่งเพื่อเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น double = ดับเบิล
7.2 ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นสระอื่นที่ไม่ใช่สระอะ ให้ทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องซ้อนพยัญชนะ เช่น California = แคลิฟอร์เนีย
7.3 ถ้าเป็นคำที่เกิดจากการเติมปัจจัย เช่น -er, -ing, -ic, -y และการทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษดังข้อ 7.2 อาจทำให้ออกเสียงผิดไปจากภาษาเดิมมาก ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์ต้นอีกหนึ่งเพื่อให้เห็นเค้าคำเดิม เช่น booking = บุกกิง

8. คำประสมที่มีเครื่องหมายยัติภังค์ (hyphen) ให้ทับศัพท์โดยเขียนติดต่อกันไป เช่น Cross-stitch = ครอสสติตช์ (ไม่ใช่ ครอส-สติตช์)
ยกเว้นในกรณีที่เป็นศัพท์ทางวิชาการหรือวิสามานยนามให้คงไว้ เช่น Cobalt-60 = โคบอลต์-60

9. คำประสมซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนแยกกัน เมื่อทับศัพท์ให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องแยกคำตามภาษาเดิม เช่น night club = ไนต์คลับ

10. คำคุณศัพท์ที่มาจากคำนาม ซึ่งมีปัญหาว่าจะทับศัพท์ในรูปคำนามหรือคำคุณศัพท์นั้น ให้ถือหลักเกณฑ์ดังนี้

10.1 ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายเหมือนคำนาม หรือหมายความว่า "เป็นของ" หรือ "เป็นเรื่องของ" คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนาม เช่น hyperbolic curve = ส่วนโค้งไฮเพอร์โบลา (ไม่ใช่ ส่วนโค้งไฮเพอร์โบลิก)
10.2 ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายว่า "เกี่ยวข้องกับ" หรือ "เกี่ยวเนื่องจาก" คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามโดยใช้ คำประกอบ เชิง แบบ อย่าง ทาง ชนิด ระบบ ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย เช่น electronic power conversion = การแปลงผันกำลังเชิงอิเล็กทรอนิกส์
10.3 ในกรณีที่การทับศัพท์ในรูปคำนามตามข้อ 10.1 และข้อ 10.2 ทำให้เกิดความหมายกำกวมหรือคลาดเคลื่อน ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์ เช่น metric system = ระบบเมตริก (ไม่ใช่ ระบบเมตร)

 

11. คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล ให้ทับศัพท์ตามชื่อของบุคคลนั้น ๆ โดยใช้คำประกอบ ของ แบบ ระบบ ฯลฯ แล้วแต่ความหมาย เช่น Euclidean geometry = เรขาคณิตระบบยุคลิด
ยกเว้นในกรณีที่คำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อบุคคล เป็นชื่อเฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในแต่ละวงการ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการที่ในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์

12. คำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติต่าง ๆ ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามที่เป็นชื่อประเทศ เช่น Swedish people = คนสวีเดน (ไม่ใช่ คนสวีดิช) Hungarian dance = ระบำฮังการี (ไม่ใช่ ระบำฮังกาเรียน)
ยกเว้นชื่อที่เคยใช้มานานแล้ว ได้แก่ ...เยอรมัน ...กรีก ...ไอริช ...ดัตช์ ...สวิส ...อังกฤษ และ ...อเมริกัน เช่น เรือกรีก (ไม่ใช่ เรือกรีซ) รถอเมริกัน (ไม่ใช่ รถอเมริกา)

13. การวางตำแหน่งคำคุณศัพท์ในคำทับศัพท์ ให้ถือหลักเกณฑ์ดังนี้

13.1 คำคุณศัพท์ที่ประกอบคำนามที่เป็นภาษาไทย หรือเป็นคำทับศัพท์ แต่ได้ใช้ในภาษาไทยมาจนถือเป็นคำไทยแล้ว ให้วางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม เช่น cosmic ray = รังสีคอสมิก
13.2 ถ้าทั้งคำคุณศัพท์และคำนามเป็นคำทับศัพท์ที่ยังไม่ถือเป็นคำไทย ให้ทับศัพท์ตรงตามศัพท์เดิม เช่น Arctic Circle = อาร์กติกเซอร์เคิล (ไม่ใช่ วงกลมอาร์กติก)
13.3 ถ้าต้องการเน้นว่าคำนามนั้นเป็นสิ่งที่มีหลายชนิดและคำคุณศัพท์ที่ประกอบเป็นชนิดหนึ่งของคำนามนั้น อาจทับศัพท์โดยใช้คำประกอบ แบบ ชนิด ระบบ ฯลฯ มาแทรกไว้ระหว่างคำนามกับคำคุณศัพท์ เช่น normal matrix = เมทริกซ์แบบนอร์แมล


14. คำย่อ ให้เขียนชื่อตัวอักษรนั้น ๆ ลงเป็นภาษาไทย คำย่อให้เขียนติดกัน โดยไม่ใส่จุดและไม่เว้นวรรค เช่น DDT = ดีดีที F.B.I. = เอฟบีไอ

15. คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด เช่น UNESCO = ยูเนสโก

16. ตัวย่อชื่อบุคคล ให้เขียนโดยใส่จุด และเว้นช่องไฟระหว่างชื่อกับนามสกุล เช่น D.N. Smith = ดี.เอ็น. สมิท

 

 

ท้ายบท

คงจะพอเห็นภาพหลักเกณฑ์การทับศัพท์แล้ว ดูค่อนข้างจะซับซ้อนมากทีเดียว แต่เอาเป็นว่าถ้าอยากหาคำไหนทับศัพท์ยังไง เรามีเว็บแนะนำให้สามารถไปค้นหาได้เลย ลองใช้ดูแล้วสะดวกดีเหมือนกัน ที่สำคัญใช้งานด้วยการพิมพ์ภาษาไทยก็ได้หรือจะหาจากคำภาษาอังกฤษก็ได้ ลองไปดูละกันจ้า

คำทับศัพท์

 

 

ขอขอบคุณและอ้างอิง

จาก การเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ

พูดคุย

พูดคุย

ร่วมให้กำลังใจหรือติชม